เทศบาลตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา : www.banphokorat.go.th

 
 
แผนยุทธศาสตร์การพัฒนา

เพื่อนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโพธิ์  ยุทธศาสตร์หลักที่จะดำเนินการให้ประสบความสำเร็จและแนวทางการพัฒนาไว้  ๘  ยุทธศาสตร์   ๒๕  แนวทาง   ซึ่งเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์    การพัฒนาจังหวัดให้บรรลุวัตถุประสงค์  ดังนี้

๑. ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน
เป้าหมาย
เพื่อก่อสร้างและซ่อมแซมบำรุงโครงสร้างพื้นฐานในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลให้มีความสะดวกและมาตรฐาน  เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านอื่นๆให้ประสบความสำเร็จ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านคมนาคมขนส่ง ด้านความสงบเรียบร้อย ด้านเศรษฐกิจ  และด้านความสงบสุขของประชาชน
แนวทางการพัฒนา
ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้ประชาชนได้รับการบริการสาธารณะให้ความสะดวกและรวดเร็วขึ้น  โดยเน้นการมีมาตรฐานและเกิดความยุติธรรม  ดังนี้
๑. ก่อสร้างและปรับปรุงบำรุงเส้นทางคมนาคม ท่อระบายน้ำให้เป็นไปด้วยความสะดวก
๒. ขยายเขตไฟฟ้าและไฟฟ้าสาธารณะ
๓. ก่อสร้างและขยายและปรับปรุงเขตการบริการประปา
๔. ขยายเขตบริการสาธารณะอื่นๆ ที่ประชาชนพึงได้รับอย่างถ้วนหน้า

๒. ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ
เป้าหมาย
เพื่อสนับสนุนระบบเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่นให้ประชาชนมีความสามารถในการพัฒนาอาชีพและการดำเนินการเป็นกลุ่มทางอาชีพ เพื่อเพิ่มพูนมูลค่าของสินค้าที่ผลิต  ซึ่งเป็นการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์  สร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและแก้ไขความยากจนของจังหวัดนครราชสีมา
แนวทางการพัฒนา
๑. ส่งเสริมศักยภาพในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของผลผลิตทางการเกษตร
๒. เสริมสร้างและเพิ่มทักษะอาชีพของครัวเรือน
๓. ส่งเสริมการรวมกลุ่มอาชีพและสนับสนุนกลุ่มอาชีพในการพัฒนาอาชีพของประชาชนในท้องถิ่นให้มีคุณภาพ เพื่อการผลิตและพัฒนาอาชีพ และมีรายได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

๓. ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านท่องเที่ยว
เป้าหมาย
เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดนครราชสีมาและเพิ่มรายได้  พร้อมทั้งเป็นการเผยแพร่ชื่อเสยียงของพื้นที่ให้เป็นที่รู้จักทางด้านการท่องเที่ยว  ซึ่งตำบลบ้านโพธิ์มีศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยวทั้งทางด้านวัฒนธรรมและศาสนา  อีกทั้งพื้นที่ตั้งมีระยะห่างจากเมืองไม่ไกลมากนัก  จึงเป็นพื้นที่พร้อมในการรองรับและพัฒนาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวได้
แนวทางการพัฒนา
๑. ประชาสัมพันธ์พื้นที่และแหล่งท่องเทียว
๒. พัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน
๓. จัดระบบการท่องเที่ยวแบบเชื่อมโยงพื้นที่

๔. ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม
เป้าหมาย
เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดดุลยภาพที่ยั่งยืนของจังหวัดนครราชสีมา และเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมชุมชนให้มีสภาพที่พึงประสงค์  ไม่ก่อให้เกิดปัญหาที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่
แนวทางการพัฒนา
๑. สร้างจิตสำนึกและความตระหนักในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
๒. สร้างจิตสำนึกแก่ภาคการผลิตในการลดปัญหามลพิษ
๓. พัฒนาการบริหารจัดการของเสียชุมชน

๕. ยุทธศาสตร์การสาธารณสุข
เป้าหมาย
เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ปฏิบัติภารกิจอันเป็นแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐและนโยบายของรัฐบาลของจังหวัดนครราชสีมา เพื่อสร้างประชาชนให้มีคุณภาพด้วยสุขภาพอนามัยที่ดี  ให้ประชาชนมีความสุขกับการดำรงชีวิตด้วยความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ  สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขชุมชนได้อย่างทั่วถึง
แนวทางการพัฒนา
๑. ส่งเสริมการป้องกันและระวังโรคติดต่อ
๒. ส่งเสริมสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชน

๖. ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการศึกษา
เป้าหมาย
เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ปฏิบัติภารกิจอันเป็นแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐและนโยบายของรัฐบาลของจังหวัดนครราชสีมา  เพื่อสร้างประชาชนให้มีคุณภาพด้วยระบบการศึกษา  ทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา
แนวทางการพัฒนา
๑. เพิ่มโอกาสในการศึกษาต่อภาคบังคับของประชาชน
๒. พัฒนาแหล่งเรียนรู้และช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

๗. ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านสังคม
เป้าหมาย
เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความพร้อมในด้านสังคมที่น่าอยู่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน  ตลอดจนมีครอบครัวที่อบอุ่นเป็นการวางรากฐานที่ดีของสังคม  ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์สร้างสังคมสงบสุขและพึงปรารถนา  ของจังหวัดนครราชสีมา
แนวทางการพัฒนา
๑. เสริมสร้างรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
๒. สร้างโอกาสในการดำรงชีวิตของผู้ด้อยโอกาสในการดำรงชีวิตประจำวัน
๓. ลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดของชุมชน
๔. ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของชุมชน  

๘. ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี
เป้าหมาย
เพื่อสนับสนุนประชาชนทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและตรวจสอบการทำงานของภาครัฐและให้บรรลุแนวทางการดำเนินงานของจังหวัดนครราชสีมาตามยุทธศาสตร์การบริหารราชการให้เป็นไปตามหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี
แนวทางการพัฒนา
๑. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรทุกภาคส่วนในการพัฒนาทางการเมืองและสังคม
๒. ส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรและองค์กรให้มีขีดความสามารถในการพัฒนา
๓. ส่งเสริมการพัฒนาระบบการบริการประชาชนตามมาตรฐานสากล (PSO)
๔. การพัฒนาและจัดระเบียบของชุมชนและสังคม